คอลัมนน์ Smart SMEs
วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย
กระแสรักสุขภาพ เป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย การระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวระวังป้องกัน รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเติบโตดี โดยเฉพาะธุรกิจที่สอดคล้องกับชีวิตแบบ new normal เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การพึ่งตนเองทางด้านอาหาร และการป้องกันดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ ก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ยิ่งเห็นตัวเลขจำนวนคนออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีจำนวนประมาณ 12.9 ล้านคน ซึ่งเป็นผลจากรายได้ประชากรที่สูงขึ้น มีอายุยืนขึ้น รวมถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทำได้ง่ายขึ้น ผ่านสื่อออนไลน์
โดยลูกค้าเป้าหมายกลุ่มรักสุขภาพที่มีความสำคัญ ได้แก่ คนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 15-40 ปี (กลุ่ม Gen Y และ Gen Z) ซึ่งให้ความสนใจสุขภาพค่อนข้างสูง
โดยคนกลุ่มนี้มีประชากรประมาณ 24 ล้านคน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะมีความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะด้านที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย หรือช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 11.1 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นขนาดตลาดที่น่าสนใจนะครับ
แต่อย่างที่ทราบกันว่าการทำธุรกิจท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลังการระบาดของโควิด-19 ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคที่คาดว่าจะยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกสักระยะ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์เสมอ
ซึ่งผมขอแนะแนวทาง ดังนี้
1.การนำเสนอสินค้าที่จับต้องได้ เช่น เครื่องดื่ม อาหารเสริมหรือวิตามิน สำหรับกลุ่มลูกค้ารายเก่าที่รู้จักสินค้าอยู่แล้ว อาจมีโปรโมชั่นบรรจุภัณฑ์ในปริมาณที่มากขึ้น แต่ราคาต่ำกว่าหากเทียบกับปริมาณและราคาเดิม สำหรับลูกค้ารายใหม่ ทั้งในส่วนของตลาดในประเทศและต่างประเทศ อาจเริ่มจากบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเพื่อให้ทดลองใช้ ขณะที่สินค้าสุขภาพที่มีราคาสูงอาจทำโปรโมชั่นที่มีความยืดหยุ่น เช่น การผ่อน 0% หรือนำเสนอสินค้าในรูปแบบเช่าแทน เช่น การให้เช่าอุปกรณ์เครื่องออกกำลังกาย เครื่องมือทางการเกษตรทั้งแบบโรงงานหรือแบบครัวเรือน
2.การสร้างกระแสให้เกิดความต่อเนื่อง แม้ว่าโควิด-19 จะคลี่คลายแล้ว แต่หลาย ๆ เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สามารถนำมาขยายหรือต่อยอดได้ เช่น การสอนออกกำลังกายออนไลน์ ซึ่งสามารถใช้ควบคู่กับการสอนในสถานออกกำลังกาย นอกจากจะได้ประโยชน์ทางด้านลูกค้ารายใหม่ ๆ ที่อาจไม่สะดวกเข้ามาในสถานออกกำลังกาย (เช่น กลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน ที่ไม่มีเวลามาออกกำลังกายที่ฟิตเนส หรืออาจไม่พร้อมรับค่าใช้จ่ายปกติ) ซึ่งการขยายตลาดการสอนผ่านออนไลน์จะสนับสนุนให้ธุรกิจฟิตเนส บริการลูกค้าได้จำนวนมากขึ้น โดยใช้สถานที่ และบุคลากรเท่าเดิม
3.การร่วมมือเป็นพันธมิตร สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากกระแสการพึ่งตนเอง เช่น ธุรกิจที่ปลูกพืชผักสุขภาพ อาจนำเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่าที่ครัวเรือน หรือโรงงานผลิต เพื่อป้อนความต้องการ
ขณะเดียวกันก็อาจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับชุมชน หรือโรงงาน เพื่อเป็นผู้รวบรวมผลผลิตส่วนที่อาจเกินความต้องการ โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนหรือโรงงาน รวมถึงจำกัดผลกระทบต่อธุรกิจ
4.การเตรียมความพร้อมธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่น่าจะเป็นจุดขายหลังโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องเตรียมพร้อมทั้งทางด้านการส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศ โดยชูจุดเด่นด้านความปลอดภัยของการระบาด รวมถึงการพัฒนาเพิ่มทักษะ หรือ upskill เกี่ยวกับภาษา หรือการให้บริการด้านสุขภาพ เช่น นวดสปา นวดแผนไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
ธุรกิจที่ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในทิศทางที่ดี แต่ก็มีความท้าทายเรื่องกำลังซื้อที่ถดถอยรุนแรง ดังนั้นควรมีการประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการใด ๆ และต้องระมัดระวังการก่อหนี้เพิ่มเพื่อใช้ลงทุน เนื่องจากสภาพคล่องในธุรกิจยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้
August 29, 2020 at 10:32AM
https://ift.tt/3hFPDhB
คว้าโอกาสธุรกิจหลังโควิด-19 เมื่อสายเฮลตี้มาแรง - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คว้าโอกาสธุรกิจหลังโควิด-19 เมื่อสายเฮลตี้มาแรง - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment