28 กรกฎาคม 2563 | โดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข | คอลัมน์ Think Leadership
263
ถอดโมเดลธุรกิจที่แพร่หลายในจีนเมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่จีนพยายามหาหนทางฟื้นเศรษฐกิจให้ได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งจะมีลักษณะอะไรบ้าง? ติดจามได้จากบทวิเคราะห์นี้
นับจากต้นปีถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 13 ล้านคนแล้ว มีสหรัฐเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ส่วนจีนแม้โรคจะระบาดซ้ำ แต่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากมายเหมือนในรอบแรก จนทั่วโลกยอมรับว่ารัฐบาลจีนมีความชัดเจนเด็ดขาดว่องไวในการสื่อสารและบริหารจัดการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความที่เป็นประเทศใหญ่มีพลเมืองมาก รัฐบาลจีนและประชาชนต้องมีความเข้มแข็งและพยายามหาหนทางฟื้นเศรษฐกิจให้ได้รวดเร็วที่สุดเพื่อรักษาความเป็นศูนย์กลางทางด้าน Supply Chain ที่ใหญ่ที่สุดของโลก จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะเรียนรู้จากจีนว่านอกจากการบริหารโรคระบาดที่ได้ผลแล้วเขามีแนวทางฟื้นฟูกิจการค้าอย่างไรด้วย
“หวัง เทียนอยู่” ได้เขียนบทวิเคราะห์ธุรกิจในเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ CGTN ถึงแนวทาง “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (Sharing Economy) ว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในจีนมา 2-3 ปีแล้ว ที่ผ่านมาองค์กรห้างร้านต่างๆ มีกิจกรรมความร่วมมือกันในการแบ่งปันจักรยาน รถยนต์ แบตเตอรี่ ฯลฯ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
และเมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดองค์กรทั้งหลายก็เพิ่มการแบ่งปันกันโดยแบ่งปันพนักงานกัน (Sharing Employees) เหตุจูงใจเกิดจากการที่รัฐบาลเริ่มรณรงค์ให้ชาวจีนอยู่กับบ้านเพื่อลดการแพร่ติดต่อของโรค ธุรกิจหลายภาคส่วนซึ่งได้แก่ ธุรกิจจัดเลี้ยง การท่องเที่ยว และบริการต่างๆ จึงประสบปัญหาเพราะลูกค้าลดลงอย่างฮวบฮาบ แม้ว่าหลายองค์กรจะปิดกิจการหรือลดเวลาทำการให้น้อยลง แต่ปัญหาสำคัญก็คือเจ้าของกิจการจำนวนมากยังต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน
ทางกลับกันองค์กรที่ทำธุรกิจออนไลน์กลับมีงานเพิ่มมากขึ้นจนพนักงานทำไม่ไหว ไม่ทัน จึงมีผู้บริหารองค์กรบางคนเกิดความคิดในการนำเสนอแบ่งปันพนักงานของตนที่อยู่กับบ้านเฉยๆ ไปช่วยทำงานที่บริษัทออนไลน์ชั่วคราว บริษัทที่ต้องการพนักงานไปช่วยงานจะช่วยจ่ายค่าจ้างบางส่วน ทำให้ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์
ในส่วนลึกเจ้าของกิจการที่ไม่มีลูกค้าในช่วงโรคระบาดคงไม่อยากปิดกิจการถาวรและไม่อยากปลดพนักงานให้พวกเขาต้องลำบาก ดังนั้น หากสามารถหาพาร์ทเนอร์ที่สนใจอยากขอยืมพนักงาน ยืมเครื่องมืออุปกรณ์การทำงานต่างๆ และยินดีช่วยจ่ายเงินเดือนและค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ก็น่าจะเป็นแนวทางการบริหารที่ตอบโจทย์ของทุกฝ่ายได้ดี
ซึ่งหวัง เทียนอยู่ได้ยกตัวอย่างองค์กรในจีนที่ใช้แนวทาง Sharing Economy รักษากิจการเอาไว้ได้ในช่วงโควิด เช่น ธุรกิจร้านอาหารและจัดเลี้ยง “คิงเหนียน” ซึ่งขาดสภาพคล่อง ขาดลูกค้าเข้ามารับประทานในร้าน โดย “เหวย หยิน” พนักงานเสิร์ฟเปิดเผยว่าเจ้าของร้านคิงเหนียนได้ตกลงให้เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ต “เฮมา” “ยืม” ตัวเธอไปเป็นพนักงานทำหน้าที่จัดแยกสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตชั่วคราว เพราะเธอเองก็ไม่สามารถกลับไปกักตัวเองในเมืองบ้านเกิดได้ ซึ่งการไปทำงานชั่วคราวนี้ก็ทำให้เธอมีความสุขเช่นกัน
ยังมี “เจ.ดี.คอม” และ “กลุ่มซูหนิง” ซึ่งเป็นบรรษัทขนาดยักษ์ของจีนตลอดจน “วอลมาร์ท” ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอเมริกันในจีนที่ใช้นโยบาย Sharing Economy เช่นกัน โดยได้จ้างพนักงานชั่วคราวจากบริษัทอื่นๆ มากกว่าหมื่นคนมาช่วยงานในแผนกโลจิสติกส์ของตนที่มีงานมากขึ้น ปรากฏการณ์ “การแบ่งปันพนักงาน” ได้กลายเป็นประเด็นให้ชาวจีนเริ่มคิดว่า “การจ้างงานแบบยืดหยุ่น” (Flexible Employment) น่าจะกลายเป็นโมเดลการบริหารงานที่ควรทำตามกันได้อย่างจริงจัง
“จง หลิง” อาจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ แห่งบัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจชุงกง แสดงความเห็นกับนักข่าว CGTN ว่า “การแบ่งปันพนักงานอย่างที่บริษัทเฮมาทำนั้นเป็นเรื่องที่ทำตามอย่างได้แน่นอน” โดยอธิบายว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์ การแบ่งปันหรือการแชร์พนักงานนั้นเป็นกิจกรรมที่บริษัทสองแห่งต่างช่วยกัน “เติมเต็ม” อุปสงค์ด้านแรงงานของอีกฝ่าย ทั้งนี้ข้อตกลงโดยทั่วไปในจีนก็คือบริษัทผู้ให้ยืมพนักงานมาทำงานจะรับผิดชอบจ่ายเงินเดือนในสัดส่วนประมาณ 50-70% ของเงินเดือนที่พนักงานได้รับ จ่ายเบี้ยประกันต่างๆ และเงินสมทบทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือบำนาญ ส่วนบริษัทที่ขอยืมพนักงานจะจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน (Performance Pay) และเงินประกันสังคม (Social Security)
ทำไมบริษัทผู้ขอยืมพนักงานจึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายน้อยกว่าบริษัทผู้ให้ยืม? จง หลิง บอกว่าเพราะในเวลานี้ตลาดแรงงานอยู่ในมือของผู้ขอยืม เนื่องจากมีหลายองค์กรที่มีคนงานล้นเกินจะรับผิดชอบไหว ผู้อยากให้ยืมคนงานจึงต้องง้อหาคนมายืม แต่ถ้าในอนาคตเมื่อจีนฟื้นตัวได้ดีขึ้นและมีกฎหมายแรงงานที่ออกมาครอบคลุมเรื่องการแบ่งปันพนักงานอย่างชัดเจน ความรับผิดชอบของบริษัทผู้ให้ยืมและผู้ขอยืมพนักงานอาจจะเปลี่ยนไป และผู้ขอยืมอาจต้องจ่ายมากกว่านี้ก็ได้
หันมาดูสถานการณ์ในประเทศไทยบ้าง ที่กำลังมีปัญหาคนว่างงานและว่างเงินแบบเลือดไหลไม่หยุด หากนำแนวคิด Sharing Economy มาช่วยลดภาระเรื่องต้นทุนอุปกรณ์และแรงงานก็คงจะไม่เลว
ลองหันไปมองดูว่าเรามีอะไรให้บริษัทอื่นยืมได้บ้าง หรือต้องการยืมอะไรบ้างจากคนอื่นในราคาที่ถูกกว่าการต้องลงทุนเอง บางทีเราคงจะได้เห็นหลายบริษัทหันมาจับมือเป็นพาร์ทเนอร์แบ่งกันใช้ รอดไปด้วยกัน ตู้ปันสุขก็มีแล้ว มาลองเศรษฐกิจแบบปันสุขบ้างน่าจะดีค่ะ
July 28, 2020 at 05:00AM
https://ift.tt/2OYYOwD
'Sharing Economy' ฟื้นธุรกิจโมเดลจีนฝ่าโควิด-19 - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'Sharing Economy' ฟื้นธุรกิจโมเดลจีนฝ่าโควิด-19 - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment