Search

SLL สินเชื่อยั่งยืนที่ตอบโจทย์ธุรกิจ | พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย - กรุงเทพธุรกิจ

bussinesfor.blogspot.com

ทั้งในแง่ของปริมาณและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และเป็นที่น่าสนใจว่าปี 2562 ถือเป็นปีทองของผลิตภัณฑ์น้องใหม่มาแรงที่อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทยนัก นั่นคือสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability-Linked Loan (SLL) ซึ่งมียอดการเติบโตทั่วโลกพุ่งสูงอย่างชัดเจน  เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทวิจัยของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (BloombergNEF: BNEF) รายงานมูลค่า SLL ที่บริษัททั่วโลกได้ออกทั้งหมดในปี 2562 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 122 พันล้านดอลลาร์ หรือเติบโตสูงถึง 168% จากปี 2561 เมื่อเทียบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (Sustainable Debt) ทั้งตลาดที่จำนวน 465 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเติบโต 78%

เหตุที่ SLL ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นานคือ SLL ตอบโจทย์ผู้กู้ได้พอเหมาะพอดี ทั้งในด้านดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไป อีกทั้งเงื่อนไขซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืนนั้นไม่เข้มงวดเท่ากับผลิตภัณฑ์สีเขียวอื่นๆ เช่น สินเชื่อสีเขียวหรือพันธบัตรสีเขียว

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า SLL เป็นสินเชื่อยั่งยืนที่ยังไม่ “เขียว” มากแต่ตอบโจทย์ธุรกิจได้อย่างดี

SLL มีคุณสมบัติคล้ายสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) โดยมีความแตกต่างที่วัตถุประสงค์และเงื่อนไขในการใช้สินเชื่อ ตามคำนิยามที่เผยแพร่โดย Loan Syndications and Trading Association ร่วมกับ Loan Market Association และ Asia Pacific Loan Market Association เมื่อเดือนมีนาคม 2562 นั้น สินเชื่อสีเขียวเป็นการให้กู้สำหรับโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม โดยต้องมีกระบวนการในการประเมินโครงการ การบริหารบัญชีสินเชื่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งการรายงานผล ส่วน SLL เป็นการให้กู้สำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน โดยไม่จำกัดว่าต้องนำสินเชื่อไปใช้ลงทุนแนวยั่งยืนเท่านั้น สามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจทั่วไปได้ แต่มีการตั้งเป้าหมายหรือตัวชี้วัดขั้นต่ำตามแต่จะตกลงกันระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้แต่ละราย เช่น การจัดทำนโยบายด้านความยั่งยืน หรือความสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น และต้องรายงานความคืบหน้าตลอดระยะสินเชื่ออย่างน้อยปีละครั้ง โดยเลือกที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือรายงานแก่เฉพาะผู้ให้กู้ก็ได้

บริษัทที่สามารถบรรลุเป้าหมายตามเงื่อนไขของ SLL จะได้รับการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายนั้น จะไม่มีบทลงโทษหรือไม่ถือว่าเป็นการผิดข้อตกลงทางกฎหมาย แต่บริษัทอาจโดนปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น  ความนิยมสินเชื่อประเภทนี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าว Environmental Finance รายงานว่ามูลค่าตลาด SLL เติบโตแปดเท่าจาก 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560 เป็น 40 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมามีบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยได้รับสินเชื่อ SLL จากธนาคารญี่ปุ่นเป็นรายแรกแล้ว

นาย Gonzalez Jacob ผู้บริหารระดับสูงด้านสินเชื่อธุรกิจของสถาบันการเงินระดับโลก Banco Bilbao Vizcaya Argentaria (BBVA) กล่าวว่าสินเชื่อประเภท SLL หรือเรียกอีกอย่างว่า ESG-Linked Facilities เปรียบเสมือนประตูเปิดทางสำหรับบรรดาธุรกิจที่ต้องการเพิ่มมูลค่าและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน SLL ช่วยจูงใจให้บริษัทต่างๆ เริ่มตั้งเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นกว่าสินเชื่อสีเขียว อีกทั้งไม่ต้องใช้เอกสารทางกฎหมายที่ซับซ้อนมากมาย เพียงแค่ใช้สัญญาสินเชื่อตามปกติและเพิ่มเงื่อนไขบางประการ

ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกต่างเชื่อว่า SLL คือสิ่งที่จะช่วยชี้นำบริษัทต่างๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งบริษัทบางแห่งที่อาจไม่เข้าเกณฑ์สินเชื่อสีเขียวได้ทั้งหมดก็มีโอกาสร่วมช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในด้านที่สามารถทำได้ เช่น การประหยัดไฟฟ้าและน้ำ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน การใช้วัสดุจากแหล่งทรัพยากรที่มีการรับรอง การรีไซเคิล รวมถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัย นอกจากนี้ เพื่อความโปร่งใสน่าเชื่อถือจึงต้องมีการวัดประเมิน ESG โดยผู้ให้บริการจัดอันดับภายนอก เช่น Sustainalytics และ Vigeo Eiris

อย่างไรก็ตาม มีผู้รู้คาดการณ์ว่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ SLL ในปีที่แล้วจะเริ่มชะลอตัวลงในปีนี้ เพราะบรรดาเจ้าของธุรกิจต่างหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์ทางการเงินระยะสั้นที่มีความคล่องตัวสูงกว่าในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ แม้ความนิยม SLL จะสะดุดลงบ้าง แต่แนวโน้มที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการช่วยจูงใจให้บริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมยกระดับ ESG Excellence ของตน โดยได้ประโยชน์จากการลดต้นทุนเงินกู้ และในภายหน้า SLL น่าจะกลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารทั่วไปนำเสนอเพื่อช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ ปรับเป้าหมายการดำเนินงานไปในทางที่ยกระดับการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นครับ




August 19, 2020 at 05:04AM
https://ift.tt/3iYNHRD

SLL สินเชื่อยั่งยืนที่ตอบโจทย์ธุรกิจ | พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย - กรุงเทพธุรกิจ

https://ift.tt/3dXvwcw


Bagikan Berita Ini

0 Response to "SLL สินเชื่อยั่งยืนที่ตอบโจทย์ธุรกิจ | พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย - กรุงเทพธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.