“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟอร์ ซีอีโอ” รุ่นที่ 2 เข้มข้นขึ้น ล่าสุดดึง “นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี” กูรูผู้คร่ำหวอดในวงการดิจิทัล ร่วมตีโจทย์ “workforce of the Future” ตัวแปรสำคัญตัวชี้วัด ท่ามกลางคลื่นดิจิทัล องค์กรจะก้าวผ่าน คว้าโอกาสความสำเร็จได้หรือไม่
“เอคเซนเชอร์” ไขรหัส “แรงงานแห่งอนาคต” ชี้ บุคลากรสำคัญกว่าเทคโนโลยี ทรานส์ฟอร์มคนหนุนทรานส์ฟอร์มธุรกิจ แนะซีอีโอปรับมายเซ็ต จริงจังลงทุนพัฒนาคน ปูทางสร้างนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันรับจุดเปลี่ยนธุรกิจยุคนิวนอร์มอล
เข้มข้นมาอย่างต่อเนื่องสำหรับหลักสูตร “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟอร์ ซีอีโอ” รุ่นที่ 2 โดยความร่วมมือระหว่าง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อีซี จำกัด (มหาชน) ล่าสุดดึง “นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี” กูรูผู้คร่ำหวอดในวงการดิจิทัล ร่วมตีโจทย์ “workforce of the Future” ตัวแปรสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดว่า ท่ามกลางคลื่นดิจิทัลที่นับวันยิ่งรุนแรง องค์กรจะสามารถก้าวผ่านและคว้าโอกาสความสำเร็จได้หรือไม่
นายนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวบรรยายในหัวข้อ “Let’s stay with workforce of the future” ว่า องค์ประกอบของแรงงานในอนาคตจะประกอบด้วยแมชีน เอไอ และหุ่นยนต์ โดยมีระบบ “ออโตเมชั่น” เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการพัฒนาทักษะใหม่ๆ รวมถึงตำแหน่งงานใหม่ๆ
รีสกิล-อัพสกิล ส่วนผสมสำคัญ
ดังนั้นในฐานะผู้นำองค์กร ซีอีโอควรให้ความสำคัญกับ “SKILL” มีการพัฒนาทักษะของบุคคลากร ทั้ง “รีสกิล” และ “อัพสกิล” รวมไปถึง “Will” สร้างวัฒนธรรมองค์กรและลีดเดอร์ชิปที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน “THRILL” มีแนวคิดการพัฒนาที่เอื่อต่อการสร้างสิ่งใหม่และความตื่นเต้นในสถานที่ทำงาน
ผลการวิจัยโดยเอคเซนเชอร์ระบุว่า คนทำงาน 67% มีมุมมองว่าการพัฒนาทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลมีความสำคัญอย่างมาก ทว่ามีผู้บริหารเพียง 3% เท่านั้นที่จริงจังกับการลงทุนพัฒนาบุคลากรภายใน 3 ปีนี้
เขากล่าวว่า การทำงานในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบโปรเจ็คมากขึ้น บุคลากรหนึ่งคนต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย การคว้าโอกาสหรือสร้างโอกาสใหม่ๆ บนโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการปฏิวัติทางดิจิทัล นำมาซึ่งการออกแบบ พัฒนานวัตกรรม และสร้างความแตกต่างที่ช่วยปูทางความสำเร็จให้ธุรกิจ
อย่างไรก็ดี วันนี้วิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้ต่างจากอดีตอย่างมาก แต่ก่อนวัตถุประสงค์มีเป้าหมายเพื่อทำให้กระบวนการทำงานดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทว่าในยุคแห่งดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ ทำให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างยืดหยุ่น รวมถึงสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
“การเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องยาก การจะได้เปรียบหรือหรือเสียเปรียบในการแข่งขันขึ้นอยู่กับบุคลากรในองค์กรมากกว่า เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการโฟกัสที่ตัวเทคโนโลยีไปสู่ตัวคน หากต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ประสบความสำเร็จ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันต้องพูดถึงเรื่องคนเป็นอันดับแรก”
นวัตกรรม-คน หนุนองค์กรรอด
นายนนทวัฒน์ ฉายภาพความเป็นจริงที่กำลังท้าทายทุกธุรกิจ ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี การมาของดิจิทัลที่ทุกธุรกิจหนีไม่พ้น และที่น่าสนใจอย่างมากคือความหมายของแรงงานเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเป็นได้ทั้งคนหรือหุ่นยนต์
ขณะเดียวกัน ในหนึ่งองค์กรมีหลายเจเนอเรชั่นทำงานร่วมกันทำให้เกิดความท้าทายในการบริหารจัดการ เกิดภาวะที่คนหายไปจากตลาดแรงงาน อัตราการลาออกสูง ด้วยเด็กรุ่นใหม่มองหาความตื่นเต้นท้าทาย บางคนหันไปทำธุรกิจส่วนตัวนอกสายงานที่เรียน หรือชอบออกไปรับงานในรูปแบบพาร์ทไทม์มากกว่าการทำงานแบบเต็มเวลาหรือทำงานที่ตนรู้สึกไม่ชอบ
ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่มองหาวัฒนธรรมการทำงานที่มีคอลาบอเรชั่น สร้างโอกาสในการเรียนรู้ สำคัญมีความยืดหยุ่น สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของตนเอง
“องค์กรยุคใหม่อยู่รอดด้วยการสร้างนวัตกรรมและความแตกต่าง ที่จะขาดไม่ได้เลยคือการลงทุนพัฒนาบุคลากร ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญ”
เขาแนะว่า การคัดสรรบุคลากรคุณภาพสู่องค์กร ต้องมองหาคนที่มีมายเซ็ตที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความสนใจที่หลากหลาย ซึ่งอาจไม่ใช่แค่ในสายงานของตนเอง ด้วยบุคคลเหล่านี้มีพื้นฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีนิสัยเปิดใจและพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา
พร้อมระบุว่า ท่ามกลางข่าวร้ายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านพฤติกรรมรวมถึงวัฒนธรรมองค์กรที่แต่ก่อนคิดว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้การทำงานมีความต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติ
August 15, 2020 at 08:46PM
https://ift.tt/3iCFW3w
'ดีทีซี' แนะทรานส์ฟอร์มคน พลิกองค์กรรับวิถีใหม่ธุรกิจ - ฐานเศรษฐกิจ
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'ดีทีซี' แนะทรานส์ฟอร์มคน พลิกองค์กรรับวิถีใหม่ธุรกิจ - ฐานเศรษฐกิจ"
Post a Comment