Search

DNVB อีกทางเลือกของธุรกิจ | รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ - กรุงเทพธุรกิจ

bussinesfor.blogspot.com

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์

ดูบทความทั้งหมด

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คอลัมนิสต์ประจำ "มองมุมใหม่"

22 กันยายน 2563

23

ในยุคที่การซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มีการเติบโตอย่างมโหฬารผ่านช่องทาง ยังมีอีกหนึ่ง Business model ที่น่าสนใจคือธุรกิจที่เป็น DNVB

DNVB(Digital Native Vertical Brand) เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2016 โดย Andy Dunn ผู้ก่อตั้งบริษัท Bonobos และหลังจากนั้นก็เป็นอีกหนึ่งคำและแนวคิดทางการจัดการที่เป็นที่แพร่หลายกันพอสมควรในโลกตะวันตก

บริษัทที่ถูกจัดเป็น DNVB เป็นบริษัทที่ถือกำเนิดขึ้นในโลกออนไลน์ ขายสินค้าออนไลน์ (ที่มาของคำว่า Digital Native) ควบคุมดูแลประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับตั้งแต่การคิดค้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การผลิต การตลาด การขาย จนกระทั่งถึงการจัดส่ง (ที่มาของคำว่า Vertical Brand) เนื่องจากบริษัทที่เป็น DNVB ถือกำเนิดบนโลกออนไลน์ ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ทุกอย่างกับลูกค้าจึงเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ในช่วงหลัง DNVB ถึงค่อยเริ่มขยายและเปิดหน้าร้านของตัวเองขึ้นมา แต่ก็เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ของลูกค้ามากกว่าการเพิ่มยอดขาย

DNVB ไม่ใช่การทำ E-commerce เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผสมผสาน E-Commerce เข้ากับการสร้างและดูแลแบรนด์ เป็นการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจรตั้งแต่การออกแบบ พัฒนา ผลิต จนกระทั่งถึงการจัดจำหน่าย ซึ่งการควบคุมทั้งผลิตภัณฑ์และแบรนด์ที่ครบถ้วนตั้งแต่การออกแบบจนถึงการจัดส่ง ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ DNVB มีความแตกต่างจากคู่แข่งขันอื่นๆ ที่สำคัญคือประสบการณ์ที่ลูกค้าของ DNVB ได้รับคือผลิตภัณฑ์ที่จำเพาะและตรงตามความต้องการของแต่ละบุคคล (Personalization) มากกว่าการซื้อผ่านทาง E-Commerce ปกติ

DNVB จะมีสิ่งที่ร่วมหรือเหมือนกัน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เนื่องจาก DNVB ถือกำเนิดจากออนไลน์และควบคุมทุกอย่างตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์จนถึงการจัดส่ง ทำให้ข้อมูลต่างๆ รวมศูนย์อยู่ที่เดียว สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของลูกค้าได้เต็มที่โดยไม่ต้องแบ่งปันกับผู้อื่น 2.การเน้นสร้างประสบการณ์กับลูกค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ถึงแม้บริษัทเหล่านี้จะถือกำเนิดจากออนไลน์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะขยายเข้าสู่ร้านค้า ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการเปิดหน้าร้านนั้นไม่ใช่เพื่อเพิ่มยอดขาย แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าสุดท้ายก็เพื่อนำไปสู่ความภักดีของลูกค้าต่อแบรนด์ 3.ให้ความสำคัญกับ User-Generated Content หรือเนื้อหา ข้อมูลที่สร้างขึ้นโดยลูกค้า สื่อสังคมออนไลน์ของ DNVB จะเต็มไปด้วยโพสต์ต่างๆ ที่บรรดาลูกค้าแชร์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการโชว์รูปภาพ หรือ การแบ่งปันข้อแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การเกิดชุมชนของลูกค้าหรือผู้ใช้ที่มีความภักดี และกลายเป็นเครื่องมือในการหาลูกค้าใหม่ที่ต้นทุนต่ำมาก เนื่องจากลูกค้าใหม่จะมาจากการแนะนำของลูกค้าเดิมนั้นเอง

จากข้อเขียนของ Andy Dunn นั้นจะพบว่า DNVB เป็นธุรกิจแห่งอนาคต และเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการใหม่ที่จะสร้างธุรกิจขึ้นมา โดยบรรดาองค์กรใหญ่ๆ นั้นถ้าอยากจะพัฒนา DNVB ขึ้นมาบ้าง ก็คงจะยากที่จะเป็นหน่วยงานภายในโครงสร้างองค์กรเดิม นอกจากแยกออกไปต่างหากและปฏิบัติให้เหมือนกับ Startup ทั่วๆ ไปโดยเฉพาะในด้านของวัฒนธรรมองค์กรและแนวปฎิบัติในด้านต่างๆ นอกจากนี้ DNVB ยังเป็นธุรกิจที่จะมีอัตราผลกำไร (Margin) ที่ดีกว่าธุรกิจ E-Commerce ธรรมดา เนื่องจาก DNVB นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ธุรกิจขายของผ่านทางเน็ต แต่เน้นเรื่องของการสร้างแบรนด์และประสบการณ์ของลูกค้า

อย่างไรก็ดีก็มีผู้ออกมาเตือนให้ระวังเหมือนกันสำหรับ DNVB เนื่องจากจะต้องเน้นสินค้าที่คุณภาพดี สร้างแบรนด์ และสร้างประสบการณ์ลูกค้า แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถตั้งราคาได้สูงกว่าคู่แข่งมากนัก ทำให้สุดท้ายแล้ว DNVB อาจจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังประสบกับการขาดทุนอยู่

DNVB อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับยุคหลังโควิด ทั้งสำหรับบริษัทเดิมๆ หรือ ผู้ประกอบการที่อยากจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดย DNVB ในต่างประเทศนั้น ชื่อบริษัทที่พอคุ้นหูกัน ก็ประกอบด้วย Glossier, Casper, Warby Parker, Away เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยเองก็มีผู้ประกอบการหลายเจ้า (ทั้งธุรกิจเสริมความงาม ขายรองเท้า เครื่องหนัง หรือเบเกอรี่) ที่มีแนวโน้มที่จะเป็น DNVB ที่ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

ดูบทความทั้งหมดของ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์




September 22, 2020 at 04:42AM
https://ift.tt/2RJz357

DNVB อีกทางเลือกของธุรกิจ | รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ - กรุงเทพธุรกิจ

https://ift.tt/3dXvwcw


Bagikan Berita Ini

0 Response to "DNVB อีกทางเลือกของธุรกิจ | รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ - กรุงเทพธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.