การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกให้อยู่ในภาวะถดถอย เช่นเดียวกับเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2563 หลากหลายธุรกิจต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลงอย่างหนัก ทั้งธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค
เริ่มต้นที่ภาคธุรกิจค้าปลีกภายใต้ยักษ์ใหญ่สองบริษัท บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่า รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ราว 80,875.04 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,585.41 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีรายได้ 86,797 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3,032 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกบิ๊กซีที่ให้บริการมากกว่า 1,379 สาขา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยยอดขายสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงลดลง
ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากตื่นตระหนกซื้อสินค้ากักตุนในช่วงที่เว้นระยะห่างทางสังคมระยะสั้นๆ แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของไทย ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็กลง เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋า ขณะเดียวกันยอดขายของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ก็ลดลงจากอัตราการบริโภคที่ลดลงเช่นเดียวกัน
ด้าน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้ร้านสะดวกซื้อได้รับอานิสงส์ โดยผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าใกล้บ้านแทนการเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้า แต่รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ราว 273,880.80 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,532.14 ล้านบาท โดยรายงานกำไรปกติไตรมาส 2/2563 ลดลง 55% เกิดจากการจัดโปรโมชั่นร่วมกับคู่ค้าเพื่อดึงดูดลูกค้าในช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่ต้นทุนคงที่ยังอยู่ในระดับสูง
สรุปทิศทางภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในช่วง 6 เดือน ต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลงจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าลดลง รวมทั้งอำนาจการซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศก็ลดลง แม้ว่ากลุ่มค้าปลีกจะหันมาบุกช่องทางอี-คอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยผ่านทางออนไลน์ ซึ่งกลายเป็น New Normal ไปแล้ว แต่รายได้ทางด้านอี-คอมเมิร์ซก็ไม่สามารถชดเชยกับการสูญเสียรายได้มหาศาลจากช่องทางออฟไลน์ได้
ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท ในปี 2563 คาดว่าจะติดลบ 2% เนื่องจากกำลังซื้อของคนในประเทศอยู่ในภาวะซบเซา รวมถึงการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป
ธุรกิจร้านอาหารเดลิเวอรี่ทดแทนยอดขายไม่ได้
ร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 จากการที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว และแม้ว่าเชนร้านอาหารต่างๆ ปรับตัวหันมาโฟกัสเดลิเวอรี่ แต่ด้วยเมนูอาหารที่ไม่สอดรับกับโพสิชันของแบรนด์ โดยเฉพาะอาหารชาบูชิ สุกี้ บาร์บีคิว ปิ้งย่าง อาหารญี่ปุ่น เพราะล้วนเป็นอาหารที่ต้องนั่งรับประทานทั้งสิ้น
สำหรับ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร 13 แบรนด์ อาทิ Zen ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุุ่น และ AKA ร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่าง รายได้ในช่วงครึ่งปีแรก 982.24 ล้านบาท และกำไรสุทธิติดลบ -125.18 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,480.9 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายได้ในช่วง 9 เดือน (ต.ค. 2562-มิ.ย.2563) ราว 8,760.16 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 866.87 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีรายได้ 10,488 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,145 ล้านบาท
ทิศทางธุรกิจร้านอาหารในไทยปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีมูลค่าเหลือเพียง 3.85-3.89 แสนล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 9.7-10.6% อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้ลดลงมาจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนพฤติกรรมสั่งอาหารเดลิเวอรี่มารับประทานในบ้านหรือที่ทำงานมากขึ้น แทนการนั่งรับประทานที่ร้าน ประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลง จึงมีความระมัดระวังการรับประทานข้าวนอกบ้าน ซึ่งจะเห็นว่าเชนร้านอาหารในช่วงครึ่งปีหลังจะแข่งขันด้านการทำสงครามโปรโมชั่นต่างๆ ออกมา เซตเมนูประหยัด จนถึงกระทั่งเมนูเพื่อสุขภาพ เพื่อกระตุ้นยอดขายมากขึ้น
โรงแรมทรุดหนักไร้นักท่องเที่ยว
ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2563 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือน มี.ค. ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 19.8 ล้านคน ลดลงถึง 66.2%
ผลประกอบการ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ราว 6,952.53 ล้านบาท กำไรสุทธิติดลบ 510.6 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 มีรายได้ 10,868.6 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 290 ล้านบาท ส่วน บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) รายได้ในไตรมาสแรก 1,261.51 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิติดลบ 82.13 ล้านบาท
สรุปสถานการณ์ในขณะนี้ ภาคธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างแน่นอนภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งการฟื้นตัวจะต้องขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามา และการกระตุ้นนักท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นจะช่วยประคองธุรกิจได้เพียงบางส่วน ขณะนี้ธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กได้ปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก
อุปโภคบริโภค “ต้องกิน-ต้องใช้” ไปต่อได้
ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบกับผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์การตลาด ทั้งการทำโปรโมชั่น การทำขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการรัดเข็มขัดของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค รายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ราว 13,147.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,730.19 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 12,661 ล้านบาท นับว่าเป็นบริษัทที่สร้างรายได้เติบโตฝ่าวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าวปรับตัวทางด้านการทำตลาดอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขอนามัยที่เร็วและทันต่อความต้องการของตลาด รวมถึงการมีเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ ซี-วิต และการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์สกินแคร์หลากหลายแบรนด์ ทั้งในกลุ่มโอเล่ สตรอว์เบอร์รี โปรฮาดะ เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ
ในส่วนของ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ ในช่วงไตรมาสแรกสร้างรายได้ถึง 8,419.9 ล้านบาท และสามารถทำกำไรสุทธิ 372.75 ล้านบาท และคาดการณ์ว่ารายได้ในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะไม่ได้เติบโตเพิ่มขึ้น ถือว่าดำเนินธุรกิจได้ดีท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น การจัดแคมเปญพิเศษลดราคา “มาม่าคัพ” จากปกติ 13 บาท เหลือราคาเดียว 10 บาท เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมาจากการบริหารงานที่มุ่งลดต้นทุนการดำเนินงาน
สรุปในช่วงครึ่งปีแรกผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจค้าปลีก เชนร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรมสูญรายได้ไม่ต่ำกว่า 50% คงมีเพียงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังสามารถประคองรายได้ไว้ได้ดี ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง ภาคธุรกิจคงปรับตัวกันฝุ่นตลบ เพื่อปิดรายได้ให้พลาดเป้าน้อยที่สุด และฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 ครั้งนี้ไปให้ได้
September 05, 2020 at 03:00AM
https://ift.tt/2GrES4x
โควิด-19 ทุบธุรกิจครึ่งปีแรกกระอัก ค้าปลีก อาหาร โรงแรม สูญมากกว่า 50% - Businesstoday
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19 ทุบธุรกิจครึ่งปีแรกกระอัก ค้าปลีก อาหาร โรงแรม สูญมากกว่า 50% - Businesstoday"
Post a Comment