“อิชิตัน” จากนี้จะไม่ใช่แค่การทำธุรกิจขายเครื่องดื่มเท่านั้น เปิดวิชั่น “ตัน ภาสกรนที” กับแนวทางการทำธุรกิจที่ทุกอย่างต้องคิดใหม่ มุ่งเป้าหมายสู่การสร้างอาณาจักร Non-Drink เพราะโลกทุกวันนี้ วัฏจักรสินค้าสั้นลง การผลิตสินค้าจะต้องโดนใจและดีต่อสุขภาพ ผู้บริโภคจึงพร้อมควักเงินจ่าย
ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยไม่ดีตั้งแต่ปี 2562 และทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกคงจะถดถอย อยู่ในภาวะติดลบ และคงติดลบต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะแนวโน้มการพัฒนาวัคซีนต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบให้กับธุรกิจทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ผู้ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี เนื่องจากอัตราการบริโภคและกำลังการผลิตลดลง นักท่องเที่ยวไม่มี ดังนั้น โจทย์การทำธุรกิจคือจะทำอย่างไรให้ติดลบน้อยที่สุด
สำหรับการฝ่าวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ “ตัน ภาสกรนที” ฉายาเจ้าพ่อชาเขียว เผยว่า ตัวเองเผชิญมาหมดตั้งแต่ต้มยำกุ้ง ปี 2540 วิกฤติซับไพรม์ หรือแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส แม้กระทั่งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 รวมกันแล้วทวีความรุนแรงเท่ากับวิกฤติโควิด-19 ต้องบอกว่า เขาชอบวิกฤติ เพราะทำให้รู้สึกถึงความตื่นเต้น ชอบความท้าทาย แต่วิกฤติรอบนี้หนักมากจริงๆ ทุกองค์กรขนาดใหญ่ของโลกขณะนี้ต้องปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดกำลังการผลิต ลดจำนวนพนักงาน บริหารค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและประคองธุรกิจให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ รวมทั้งรอจังหวะที่ธุรกิจจะกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง
“ถือว่าเป็นโอกาสทองของนักสู้ในช่วงที่เกิดวิกฤติ เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจดีทุกคนก็แห่กันทำหมด ในวิกฤติโควิด-19 เราอาจค้นพบโอกาสใหม่ๆ เช่น การค้าขายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ”
สำหรับอาณาจักร “อิชิตัน” ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บ้าง แต่จากการวางยุทธศาสตร์ของบริษัท ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มในพอร์ตโฟลิโอด้านสุขภาพอย่างชาเขียวพร้อมดื่ม และล่าสุดเครื่องดื่มอัลคาไลน์ผสมวิตามินบีรวม PH Plus 8.5 ภายใต้แบรนด์ “พีเอชพลัส” (PH Plus) ที่ออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภคต้องการเครื่องดื่มสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ดังนั้น เมื่อบวก ลบ คูณ หาร ก็คงมีรายได้ที่ใกล้เคียง ยอดขายอาจจะลดลง แต่กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น เนื่องจากมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนให้ลดลงมากกว่า ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์การบริหารธุรกิจพื้นฐานในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี เขาตัดที่ปรึกษาออกทั้งหมด และหั่นงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ลง
“การสยายปีกอาณาจักรอิชิตันในด้านสุขภาพมาถูกทางและถูกเวลาแล้ว ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินเพื่อซื้อสุขภาพและป้องกันโรคมากขึ้น อย่างการเปิดตัว ‘พีเอชพลัส’ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การวางราคาสินค้าจำหน่ายสามารถทำกำไรได้มากขึ้น หรือกระทั่งการแตกไลน์ชาเขียวเซ็กเมนต์พรีเมียม ‘ชิซึโอกะ’ ก็เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งในกลุ่มเครื่องดื่มชาเขียว ตอนนี้เราประคองธุรกิจดังกล่าวไปก่อน แต่ก็หันไปทำไซซ์ซิ่ง หรือมุ่งขายเครื่องดื่มขวดเล็กแทน เพราะกำลังซื้อของคนลดลง พูดง่ายๆ ผมหาทุกช่องทางเพื่อให้บริษัทมีรายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม”
แตกไลน์เครื่องดื่มวิตามินเสริมพอร์ต
ตัน กล่าวอีกว่า การทำธุรกิจเครื่องดื่มจากนี้ โจทย์ของอิชิตัน การบริหารพอร์ตโฟลิโอสินค้าเครื่องดื่ม สินค้าที่จำหน่ายแบบเดิมเริ่มขายไม่ได้ นับตั้งแต่ปี 2562 เขาจึงแตกชาเขียวเซ็กเมนต์พรีเมียม หรือขายเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันสินค้าพรีเมียมมีขนาดตลาดเล็ก และในช่วงครึ่งหลังปี 2563 บริษัทจะขยายกลุ่มเครื่องดื่มวิตามินซีเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค. และขยายเครื่องดื่มใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะโอกาสตลาดวิตามินมีแนวโน้มจะใหญ่กว่าตลาดชาเขียว คาดว่า 2-3 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่า 2-3 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดชาเขียวพร้อมดื่มคงไม่ได้เติบโตเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่า 1.23 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจ “ตัน” จะไม่มีเฉพาะแค่เครื่องดื่ม
แนวทางการทำธุรกิจทุกอย่างต้องคิดใหม่ ถ้าทำธุรกิจแบบเดิม ทำงานแบบเดิม สินค้าอะไรก็อยู่ไม่ได้ เพียงแต่ว่าต้องสร้างสินค้าที่โดนใจด้วย ออกมาใหม่อย่างเดียวก็ไม่ได้ โจทย์การทำธุรกิจของตันวางไว้ 3 โมเดล ได้แก่
- สร้างธุรกิจใหม่ (New Business) การขยายอาณาจักรใหม่นอกเหนือจากเครื่องดื่ม การทำธุรกิจของตันจะไม่หยุดแค่เครื่องดื่ม แต่ไม่คิดจะทำธุรกิจอาหาร เพราะนโยบายของตันไม่ต้องการขยายธุรกิจที่ต้องลงทุนพื้นที่จำนวนมาก หรือใช้พนักงานจำนวนมาก แต่ต้องการใช้เงินลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาจเป็นรูปแบบซื้อมาขายไปหรือจ้างผลิต เพราะสินค้าทุกวันนี้วัฏจักรสั้น มาไวและไปไวมาก หรือถ้าสินค้าคู่แข่งดีมากกว่า ถ้าลงทุนโรงงานเยอะโอกาสได้มากกว่าเสีย
“ผมมองโอกาสสร้างการเติบโตธุรกิจไปสู่ ‘นอนดริงก์’ ภายใต้คอนเซ็ปต์เพื่อสุขภาพ ในอนาคตมีโอกาสต่อยอดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสู่เซ็กเมนต์ชาผงสำเร็จรูปในรูปแบบซอง หรือวิตามินผงสำเร็จรูปสำหรับชงดื่มในโอกาสต่างๆ ซึ่งสามารถต่อยอดจากเครื่องดื่มวิตามินก็มีความเป็นไปได้”
- สร้างตลาดใหม่ (New Market) การขยายธุรกิจไปสู่ประเทศใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาเซียน ลาว เมียนมา กัมพูชา เป็นต้น ในรูปแบบของการจับมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศที่มีความแข็งแกร่ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าไปลงทุนร่วมกับ พีที ซิกมันทรา อัลฟินโด้ และมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ที่อินโดนีเซีย และใช้ฐานการผลิตส่งออกสินค้าไปที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย
ตัน ภาสกรนที มองว่า “การทำธุรกิจต่างประเทศ บทเรียนที่ดีอย่างอินโดนีเซียที่เราไปทำธุรกิจเพราะความไม่คุ้นเคยกับพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งภูมิประเทศที่มากกว่า 3,000 เกาะ ทำให้การบริหารต้นทุนทำได้ยาก ซึ่งพบว่าชาเขียวของเราที่ผลิตออกมาต้นทุนสูงกว่าราคาของสินค้าคู่แข่งเสียอีก แม้ว่าตลาดชาพร้อมดื่มจะมีมูลค่าสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท แต่ก็มีผู้นำตลาดอยู่แล้ว 4-5 ราย มีส่วนแบ่งมากกว่า 90% แต่สุดท้ายอิชิตันประสบความสำเร็จด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย คือ ชานมไทย เพราะเราพบ อินไซต์ของคนอินโดนีเซีย”
- สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product) การแตกเครื่องดื่มนอกเหนือจากชาเขียว เช่น เครื่องดื่มให้พลังงาน “T247” และล่าสุดเครื่องดื่มวิตามิน “พีเอชพลัส” (PH Plus)
“เป้าหมายของอิชิตัน คือการสร้างอาณาจักรที่มีสินค้าสร้างการเติบโตกลุ่มเครื่องดื่มในสัดส่วน 50% และกลุ่มผลิตภัณฑ์นอนดริงก์ 50% ซึ่งใน 5 ปีข้างหน้า เราต้องการขยายธุรกิจนอนดริงก์ราว 20-30% ขณะที่รายได้จากต่างประเทศ 20-30% จากเดิมก่อนหน้านี้รายได้ของเรามาจากภายในประเทศ 100% การแตกธุรกิจนอกเหนือจากเครื่องดื่ม เพื่อบริหารความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจ เพราะโลกกลมและใหญ่ ทุกอย่างอยู่ในมือถือ ถ้าเราไม่ไปต่างประเทศ คู่แข่งก็ต้องเข้ามา ฉะนั้น เราต้องมีธุรกิจหลายเซ็กเมนต์” ตัน ภาสกรนที กล่าวทิ้งท้าย
August 16, 2020 at 02:30AM
https://ift.tt/3h0LZyz
เปิดโจทย์ใหญ่ของ "ตัน ภาสกรนที" ภารกิจพลิกโฉม "อิชิตัน" สู่ธุรกิจ Non-Food - Businesstoday
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เปิดโจทย์ใหญ่ของ "ตัน ภาสกรนที" ภารกิจพลิกโฉม "อิชิตัน" สู่ธุรกิจ Non-Food - Businesstoday"
Post a Comment