24 สิงหาคม 2563
888
KTCปรับทัพครั้งใหญ่ รับมือธุรกิจ “บัตรเครดิต” ที่กำลังเปลี่ยนไป และจะไม่กลับมาเหมือนเดิม พร้อมประเมิน “กำไร” ปีนี้ลดลงไม่เกิน 10% เตรียมลดความเข้มงวดการตั้งสำรองลงเล็กน้อย หวังผลดำเนินงานกลับมาเติบโต พร้อมลุยธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกัน
“บัตรเครดิต” ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่โดนผลกระทบหนักจากพิษโควิด-19 เพราะนอกจาก “คุณภาพหนี้” ของ “ลูกหนี้" ซึ่งด้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้ว ยังเผชิญกับรายได้ที่ลดลงจาก คำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ให้ คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 16% จากเดิม 18% ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ
“ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC มองว่า ภาพรวมธุรกิจ “บัตรเครดิต” หลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามากดดันการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการ “ลด” เพดานดอกเบี้ยของทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ปรับลดจาก 18% มาอยู่ที่ 16% ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้เฉลี่ยเดือนละ 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ การลดเพดานดอกเบี้ยดังกล่าวยังเกิดขึ้นท่ามกลาง “คุณภาพหนี้” ของลูกหนี้ที่ “ด้อยลง” จากพิษเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน ยังเผชิญกับคู่แข่งขันใหม่ๆ โดยเฉพาะ “ฟินเทค” ที่เข้ามารุกในตลาดนี้มากขึ้น
ระเฑียร ย้ำว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้บริษัทต้อง "ปรับแผน" ธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เพื่อให้บริษัทยังมีกำไรให้กับผู้ถือหุ้นและสามารถดูแลพนักงานได้ ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องดูแลสังคมด้วยเช่นกัน
การปรับแผนธุรกิจดังกล่าวทำให้มั่นใจว่า ในปีนี้กำไรของบริษัทจะลดลงไม่เกิน 10% และในปีถัดๆ ไปจะเห็นการกลับมาเติบโตของกำไรอีกครั้ง
ระเฑียร ระบุว่า หนึ่งในแผนธุรกิจที่ปรับใหม่ และเป็นจุดที่ทำให้ “กำไร” ของบริษัทกลับมาขยายตัวได้ คือ การลดความเข้มงวดที่มากเกินไปในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ โดยที่ผ่านมาการตั้งสำรองฯของบริษัทถือว่าเข้มงวดกว่าคนอื่นมาก หลังจากนี้บริษัทจะลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับอุตสาหกรรม หรืออาจเข้มงวดกว่าเล็กน้อย แต่จะไม่โอเวอร์เกินไปเหมือนในอดีต
“ที่ผ่านมาเราตั้งสำรองในระดับที่เข้มงวดเกินไปมาก เหมือนลูกตุ้มที่เราเหวี่ยงไปซ้ายมากๆ อยู่คนเดียว ขณะที่คนอื่นๆ เขาอยู่ขวากันหมด สิ่งที่เราจะทำหลังจากนี้ คือ ค่อยๆ ผ่อนลูกตุ้มให้ลงมาอยู่ตรงกลางมากขึ้น”
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์โดยหันมาโฟกัสธุรกิจใหม่มากขึ้น โดยจะมุ่งเป้าไปที่ “สินเชื่อมีหลักประกัน” เริ่มต้นจากสินเชื่อจำนำทะเบียน “พี่เบิ้ม” ซึ่งได้เริ่มขยายตลาดไปเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนี้จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีฐานลูกค้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยตลาดนี้ถือว่ายังมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงมาก
ระเฑียร บอกด้วยว่า บริษัทยังมีแผนขยายไปยังสินเชื่อประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม เช่นสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่ออื่นๆ ที่สามารถทำกำไรได้ในอนาคต เพียงแต่ต้องศึกษาตลาดเหล่านี้ให้ดีก่อน
“เราพยายามทำให้ธุรกิจใหม่ในอนาคตเติบโตให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะเข้ามาช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจหลัก หรือยิ่งทดแทนธุรกิจหลักได้เราก็จะยิ่งตัวใหญ่มากขึ้น"
สำหรับธุรกิจหลักของบริษัท คือ บัตรเครดิต และ สินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ในอนาคตธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้จะหายไปไหนแต่จะค่อยๆ มีสัดส่วนที่เล็กลง หรือเติบโตช้าลง ตอนนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ธุรกิจหลังยังต้องเดินหน้า แต่ต้องมีกลยุทธ์เสริมเพื่อบาลานซ์ภาพรวม
สำหรับแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตหลังจากนี้ “ระเฑียร” เชื่อว่ายังไม่อิ่มตัว เพราะธุรกิจนี้มีจุดแข็งของตัวเอง คือ ลูกค้าสามารถได้เงินไปใช้ก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลังตามระยะเวลาที่กำหนด เทียบกับบัตรเดบิตหรืออี-วอลเลต(กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งถือเป็นเงินของลูกค้าเอง
นอกจากนี้ในการใช้งาน “บัตรเครดิต” ยังมีความ “ยืดหยุ่น” กว่า เช่น เวลาเจ็บป่วยหรือเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินกระทันหัน สามารถรูดบัตรจ่ายได้ทันที ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้
ส่วนในแง่การแข่งขัน เชื่อว่า อนาคตธุรกิจบัตรเครดิตคงจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้เล่นในต่างประเทศและอาจทำให้ผู้เล่นบางรายในประเทศต้องหายไป เพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ บางธุรกิจอาจหมดแรงก่อน แต่ในมุมของบริษัทมองว่านี่คือ “โอกาส” ในการขยายตลาด ดังนั้นบริษัทเองก็ต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ในทุกมิติ
“เราน่าจะเดินหน้าไปพร้อมกับกระแสและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องกังวล เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังมีจำนวนมาก ทำให้ยังมีเงินไหลเข้ามาธุรกิจต่างๆ อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่า เราจะวาง Positioning ตัวเองอย่างไร สุดท้ายต้องตอบให้ได้ว่า รูปแบบโมเดลธุรกิจที่ทำอยู่ บรรทัดสุดท้ายจะมีกำไรหรือไม่ กำไรมาจากไหน รายได้ที่รับรู้เร็วไปหรือไม่ รายจ่ายรับรู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และความเสียหายได้ประเมินอย่างถูกต้องแล้วหรือไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะตอนนี้เราไม่อยู่ ในเกมธุรกิจที่ เรียกว่า “แพ้หรือชนะ” แต่เราอยู่ใน “อินฟินิทเกม”
ระเฑียร ย้ำว่า สำหรับเราไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่งในวันนี้ ขอแค่เกาะและยังอยู่ในเกม เพราถึงวันหนึ่งคนอื่นที่มองแค่ “แพ้-ชนะ” ในช่วงสั้นๆ อาจจะพลาดได้ เห็นตัวอย่างได้จากสตาร์ทอัพระดับพันล้านดอลลาร์ ตอนนี้อยู่ๆ ก็หายไป เพราะว่าไม่มีเงินทุนมาเลี้ยงธุรกิจให้เดินต่อไปได้ เนื่องจากที่ผ่านมาขาดทุนมาโดยตลอด
ดังนั้น ในโลกที่เปลี่ยนเร็ว จึงอยู่ที่ใครจะมองอย่างไรและระยะยาวจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นผู้บริหารและมีความตั้งใจจะอยู่และเล่นเกมที่เป็นอินฟินิทเกม คือ เราไม่สามารถมองความสำเร็จในระยะสั้น โดยที่เสียสละความสำเร็จในระยะยาวได้ ที่เรียกว่า “ short term pain long term gain ” เราจำเป็นต้องวางรากรากฐานความสำเร็จในระยะกลางและยาว และต้องแน่ใจว่ามีความสำเร็จระยะสั้นในระดับหนึ่ง
“จะเห็นได้ว่า เคทีซี มีการเตรียมตัวเพื่อก้าวสู่ธุรกิจเพย์เม้นต์ ทำให้เส้นทางที่เราจะเดินไปข้างหน้ามีมากขึ้นและสร้างการเติบโตได้ในอนาคต”ระเฑียรกล่าวทิ้งท้าย
August 24, 2020 at 07:01AM
https://ift.tt/32xYXOj
KTC รื้อใหญ่โครงสร้างธุรกิจ 'ระเฑียร' สั่งเจาะสินเชื่อมีหลักประกัน - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "KTC รื้อใหญ่โครงสร้างธุรกิจ 'ระเฑียร' สั่งเจาะสินเชื่อมีหลักประกัน - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment