หนึ่งในข่าวใหญ่ช่วงที่ผ่านมาของตลาดร้านสะดวกซื้อบ้านเราคือการที่ Japan FamilyMart (JFM) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อของแดนซามูไร ได้ตัดสินใจขายหุ้นที่มีอยู่ในมือ 49% ให้เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC เป็นเจ้าของ 100% ใน FamilyMart การขายหุ้นดังกล่าวทำให้บริษัทแม่ได้ถอนตัวออกจากตลาดประเทศไทยอย่างสมบูรณ์
Nikkei Asian Review รายงานว่า สำหรับ FamilyMart สัญญาณที่ชี้ถึงความไม่ประสบความสำเร็จในไทยอาจเริ่มต้นหลังจากเปิดตัว ‘หม้อโอเด้ง’ สไตล์ญี่ปุ่นที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนักของลูกค้าชาวไทย แม้จะมีชื่อเสียงอย่างมากในตลาดบ้านเกิดก็ตาม ดังนั้นเมื่อไม่สามารถเข็นธุรกิจไปได้ด้วยตัวเอง การขายหุ้นที่เหลือให้กับพันธมิตรท้องถิ่นจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
การล่าถอยในไทยเป็นเพียงสถานการณ์ล่าสุดของปัญหาในตลาดเอเชีย รวมถึงธุรกิจจีนที่กำลังติดปัญหาคาราคาซังกับพันธมิตร ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้านซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ FamilyMart จึงต้องหันไปหาตลาดต่างประเทศเพื่อการเติบโตในระยะยาว
วิธีแก้ปัญหาหนึ่งที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้คือการที่มีข่าวว่า Itochu ซึ่งเป็น Trading Company ตัดสินใจเสนอเม็ดเงินที่อยู่ระหว่าง 4.6-5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.44-1.72 แสนล้านบาทเพื่อเป็นเจ้าของ 100% ในเชนร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ FamilyMart ซึ่งเดิม ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ Itochu ถือหุ้นอยู่แล้ว 50.36% ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ FamilyMart ตีตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ
“น่าเสียดายที่เกมในประเทศไทยได้ถูกตัดสินแล้ว” ผู้บริหารของ FamilyMart กล่าว เพราะแม้ชื่อแบรนด์จะยังอยู่ในไทย แต่การขายหุ้นก็มีผลให้ถอยออกจากตลาดอย่างเต็มที่ โดย FamilyMart ได้เปิดร้านค้าแห่งแรกในไทยเมื่อปี 1993 ซึ่งนับว่ามีความโดดเด่นในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมท้องถิ่น แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่ใหญ่ไม่แพ้กัน
7-Eleven คู่ปรับรายสำคัญของ FamilyMart ในแดนซากุระได้บุกสยามเมืองยิ้มด้วยการจับมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP ยักษ์ใหญ่ธุรกิจของไทย ซึ่งใช้ความใหญ่ของ CP ในการจัดหาสินค้าและโลจิสติกส์ทั้งหมดจนสร้างความยิ่งใหญ่ด้วยจำนวนสาขากว่า 12,000 แห่ง ในขณะที่ FamilyMart มีเพียง 1,000 สาขาเท่านั้น
ส่วนในจีนนั้น FamilyMart ซึ่งเป็นเชนร้านสะดวกซื้อต่างประเทศรายใหญ่ที่สุด โดยมีคู่แข่งในท้องถิ่นเพียง 4 รายเท่านั้น สามารถขยายได้มากถึง 2,800 สาขาหลังจากบุกเข้าไปในปี 2004 ทว่าในปี 2018 FamilyMart ได้ตัดสินใจฟ้องหุ้นส่วนร่วมทุนโดยอ้างถึงการไม่จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นเวลานาน และต้องการให้อีกฝ่ายถอนหุ้น ซึ่งจนถึงวันนี้ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่สิ้นสุดเสียที
ขณะที่เกาหลีใต้ FamilyMart ซึ่งถือเป็นธุรกิจในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดด้วยสาขา 8,000 แห่ง แต่ก็มีอันต้องสะดุดไปในปี 2014 เมื่อตัดสินใจยุติความสัมพันธ์กับพันธมิตรท้องถิ่น ในเวลานั้น FamilyMart กล่าวว่าจะพิจารณาความพยายามอีกครั้งในการเปิดตัวธุรกิจในเกาหลีใต้ แต่จนถึงวันนี้บริษัทก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้เห็นอย่างชัดเจนเลย
ในเดือนกันยายน 2016 ทาคาชิ ซาวาดะ ประธาน FamilyMart ได้ประกาศเป้าหมายอันทะเยอทะยานที่ต้องการจะมีร้านค้ามากกว่า 10,000 แห่งในต่างประเทศภายในปี 2021 แต่ในขณะนี้มีเพียง 8,000 แห่งใน 7 ตลาดในเอเชียเท่านั้นเอง ดังนั้น Itochu จึงกลายเป็นตัวแปรที่จะทำให้ความฝันนี้สำเร็จหรือไม่
จีนนั้นถือเป็นเป้าหมายแห่งแรกที่จะเกิดความเคลื่อนไหวหากดีลดังกลาวได้บรรลุข้อตกลงกันจริงๆ เพราะแม้แต่ มาซาฮิโระ โอกาฟูจิ ประธานบริษัท Itochu ซึ่งไม่ค่อยพูดถึง FamilyMart มากนักก็ยังส่งสัญญาณว่า FamilyMart ต้องบุกตลาดจีนหลังจากบุกตลาดในบ้านเกิดแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือความสัมพันธ์ของ Itochu กับ Citic ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทของรัฐที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่ง Itochu ได้ลงทุนไปประมาณ 6 แสนล้านเยน (5.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตราปัจจุบัน) ในปี 2015 ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่า FamilyMart สามารถใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์นี้เพื่อเจาะกลับเข้าสู่ตลาดจีนในรูปแบบที่แตกต่างจากการร่วมทุน
แม้การร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นเป็นขั้นตอนการดำเนินงานมาตรฐานสำหรับ FamilyMart ในการดำเนินธุรกิจนอกประเทศญี่ปุ่น เนื่องจาก “เราสามารถผสมผสานการดำเนินงานร้านสะดวกซื้อสไตล์ญี่ปุ่นเข้ากับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับความต้องการของท้องถิ่น” ผู้บริหารกล่าว
ทว่าตลาดต่างประเทศมีความท้าทายอยู่ที่ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคจำนวนมากที่แตกต่างกัน ดังนั้นเครือข่ายทั่วโลกของ Itochu สามารถทำให้ FamilyMart ได้เปรียบในส่วนนี้ อีกทั้ง Itochu ยังมีอุตสาหกรรมสิ่งทอที่อาจช่วยสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งให้ FamilyMart หลังจากที่สนใจแต่อาหารมากจนเกินไป ผู้บริหารคนหนึ่งกล่าว “ผ้าเช็ดหน้าและเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกอาจเป็นสินค้าหลักได้เช่นกัน”
ปัจจุบัน FamilyMart มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพียง 13% เมื่อเทียบกับธุรกิจภายในประเทศ และยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ Seven & i Holdings บริษัทแม่ของ 7-Eleven ที่มีรายได้จากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากถึง 39%
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
August 10, 2020 at 03:10AM
https://ift.tt/2PDEwJx
การออกจากธุรกิจในไทยยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด FamilyMart พร้อม 'คัมแบ็ก' ลุยต่อในตลาดเอเชีย - thestandard.co
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "การออกจากธุรกิจในไทยยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด FamilyMart พร้อม 'คัมแบ็ก' ลุยต่อในตลาดเอเชีย - thestandard.co"
Post a Comment