สัมภาษณ์
ต้องยอมรับว่าธุรกิจค้าปลีกเป็นหนึ่งในหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมหันตภัยไวรัสโควิด-19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนั้น เพราะธุรกิจดังกล่าวต่างเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนทั้งระบบ จนทำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีเจซี”
ผลเช่นนี้ เมื่อมีโอกาสสัมภาษณ์ “แม่ทัพ” ของ “บีเจซี” หรือ “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ในเรื่องที่เกี่ยวกับแผนการขับเคลื่อนธุรกิจในครึ่งปีหลังของปี 2563 เขาจึงฉายภาพรวมของธุรกิจให้ฟัง พร้อมกับเรื่องอื่น ๆ อย่างน่าสนใจ
“ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ผมมองว่าทุกกลุ่มธุรกิจต้องอยู่ในหลักการพอเพียงและพึ่งตนเองให้ได้ ไม่ว่าจะกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการ เพราะก่อนหน้านี้เราเคยพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลังจากนี้ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ พฤติกรรมใหม่ เพราะแนวโน้มอีก 18 เดือนข้างหน้าเชื่อว่าธุรกิจในประเทศไทยจะต้องพึ่งพากันเอง หรือบริโภคสินค้าภายในประเทศมากขึ้น”
“ยกตัวอย่างกลุ่มบีเจซีโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” หลาย ๆ สาขาจากนี้ไปต้องปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการใหม่ ๆ ซึ่งเหมือนกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ผู้ประกอบการขายสินค้าที่ระลึกหรือสินค้าสปาต่าง ๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการคนไทยมากขึ้น ทั้งนั้น เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาชดเชยจำนวนลูกค้านักท่องเที่ยวที่หายไป ตรงนี้ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่บีเจซีกำลังคิดแผนอยู่หลายด้านในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ไป”
“เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา กลุ่มบีเจซีได้รับผลกระทบจากจำนวนยอดขายลดลงไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ส่งผลให้ต้องเพิ่มน้ำหนักไปที่ช่องทางจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ควบคู่กับการจำหน่ายแบบออฟไลน์ด้วยการเพิ่มบริการออปชั่นใหม่ ๆ ได้แก่ การบริการ Call for shop, Line for shop พร้อมกับนำสินค้าออกมาจำหน่ายด้วยวิธีการไลฟ์สดผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและแอปพลิเคชั่นไลน์ เพื่อให้ลูกค้ามีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้า หรือส่งสินค้าถึงบ้าน รวมไปถึงการรับสินค้าด้วยตนเองจากสาขาใกล้บ้าน ซึ่งกลยุทธ์นี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือกับแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ รวมถึงบิ๊กซี เฟรช เอ็กซ์เพรส ที่ให้บริการส่งสินค้าอาหารสดกว่า 4,000 รายการในพื้นที่กรุงเทพฯ”
สำหรับในส่วนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง “อัศวิน” บอกว่า ปัจจุบันบีเจซีมีกำลังการผลิต 5,200 ล้านกระป๋องต่อปี โดยมีลูกค้าประจำแถบประเทศในอาเซียน ทั้งความต้องการของตลาดประเภทนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจเมื่อดูจากยอดขายของผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่
“ที่สำคัญ โรงงานผลิตของธุรกิจบีเจซีไม่มีการหยุดกิจการ ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากยอดขายอยู่บ้าง แต่ตัวเลขผลกำไรก็ยังพอมี เพราะเรามีการจำหน่ายสินค้าทั้งจากออฟไลน์และออนไลน์ สำหรับผลประกอบการในไตรมาสแรก 1/63 มีรายได้ 42,328 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสินค้าบรรจุภัณฑ์มีรายได้ 5,038 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2.9% เพราะตอนนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากมีการทำสัญญาสั่งซื้อกับคู่ค้าเป็นรายปี ตามด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีรายได้ 5,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% โดยสินค้าที่มียอดขายเติบโตขึ้น ได้แก่ กลุุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ทิสชู, เครื่องใช้ส่วนตัว และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นยอดขายจึงไม่ลดลง แต่กลุ่มอาหารและขนมลดลง จากการระมัดระวังในการจับจ่ายของผู้บริโภค”
นอกจากนั้น “อัศวิน” ยังบอกว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางสร้างรายได้อันดับหนึ่ง แต่ขณะนี้ยอดขายออนไลน์เริ่มต่ำลง แต่ยังถือว่าสูงกว่าตอนก่อนเกิดวิกฤต ดังนั้น จึงนับเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคยังให้ความสนใจ แม้จะมีลูกค้าบางส่วนต้องการเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเองมากกว่า
“ดังนั้น แผนการลงทุนของบีเจซีช่วงครึ่งปีหลัง แม้หลายธุรกิจจะชะลอการลงทุน แต่สำหรับเราจะไม่ใช้คำว่าชะลอ แต่เป็นช่วงการปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับจำนวนเงินที่ลงทุนไป โดยสิ่งที่จะดำเนินต่อจากนี้ไป คือ เน้นโฟกัสที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และเน้นการทำธุรกิจที่ได้รับผลตอบแทนระยะสั้นมากขึ้น เพื่อหล่อหลอม
ธุรกิจของเราให้เติบโตต่อไป เช่น มีแผนขยายสาขามินิบิ๊กซีเพิ่มอีก 200-300 สาขา และมีการเซ็นความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ”
“ล่าสุดมีการเปิดมินิบิ๊กซีสาขาที่ 1,117 สาขามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เขตสาทร ด้วยการชูเรื่องการบริการและนวัตกรรมการประหยัดพลังงานที่ร่วมกับมหา”ลัยด้วยการนำระบบตู้แช่ประหยัดพลังงานมาใช้ภายในร้าน และใช้น้ำยาทำความเย็นประหยัดพลังงาน พร้อมรักษาคุณภาพของสินค้าอาหารสด มีระบบไฟส่องสว่างในร้าน ระบบเครื่องปรับอากาศที่มีระบบวิเคราะห์และบริหารจัดการอุณหภูมิภายในร้านแบบอัตโนมัติเพื่อให้มีความเย็นทั่วถึง รวมไปถึงระบบการวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินเลือกจับจ่ายสินค้าของลูกค้า เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ไปปรับปรุงและพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในมินิบิ๊กซีต่อไป”
“รวมถึงสนับสนุนด้านการเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของทางสถาบันการศึกษาที่พัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชน เข้ามาจัดจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อมินิบิ๊กซีที่มีฐานอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงฐานธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ด้วย”
ยิ่งเฉพาะแผนการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV “อัศวิน” บอกว่า ปัจจุบันบีเจซีเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV และยังคงมีแผนจะดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าธุรกิจยังมีโอกาส และวิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ธุรกิจกระตุกหรือหยุดชะงักทั้งหมด เพราะการทำธุรกิจต้องมีการวางแผนรอบด้าน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว
“ทั้งนั้น เพื่อช่วยสร้างการเติบโต และช่วยกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงานตามนโยบายของบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงทั้งในและต่างประเทศ เพื่อไปสู่เป้าหมายในอนาคตที่จะขยายฐานการผลิต และช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผมคาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าทุกอย่างน่าจะกลับมาเป็นปกติ เราจึงต้องเตรียมเร่งหาโมเดลที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจต่อไป”
August 13, 2020 at 02:43PM
https://ift.tt/2XSpQL6
"บีเจซี" ปรับแผนสู้โควิด "ธุรกิจยังมีโอกาส รุกคืบลงทุน CLMV" - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to ""บีเจซี" ปรับแผนสู้โควิด "ธุรกิจยังมีโอกาส รุกคืบลงทุน CLMV" - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment