ปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายปีส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการกลุ่มสาธารณูปโภค หนึ่งในนั้นคือ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ล่าสุดปรับกลยุทธ์ขยายการลงทุนรูปแบบใหม่ๆเสริมความแข็งแกร่งเพื่อเป้าหมายรักษาการเติบโตอย่างมั่นคง ขณะเดียวกันยังเดินหน้าแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเติบโตนอกกลุ่ม WHA มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่ากิจการในอนาคต
*ยกเครื่องใหม่ "บริหารจัดการน้ำ" แก้ปมภัยแล้ง ฉุดผลงานปีนี้โตเล็กน้อย
นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ว่า แนวโน้มผลประกอบการตลอดทั้งปี 63 ยังประเมินว่าจะเติบโตได้ดีกว่าปี 62 เล็กน้อย แม้ว่าครึ่งปีแรกจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 และเชื่อมั่นว่าจะเห็นสัญญาณเติบโตโดดเด่นอีกครั้งในปี 64
ภาพรวมผลประกอบการบริษัทในครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.63) ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ธุรกิจบริหารจัดการน้ำทำรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายรัฐบาลขอความร่วมมือเอกชนลดปริมาณการใช้น้ำลงเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมภาคการผลิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
จากเริ่มต้นของปัญหาภัยแล้งที่มีผลกระทบกับผลประกอบการของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บริษัทได้ตัดสินใจเร่งปรับกลยุทธ์ในครึ่งปีแรกด้วยการใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาทพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำในรูปแบบ Reclaimed Water เป็นการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำสะอาดคุณภาพสูงเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับกลุ่มในนิคมอุตสาหกรรม เบื้องต้นจะเริ่มขายน้ำเชิงพาณิชย์จากโครงการดังกล่าวได้ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ส่งผลเชิงบวกทันทีกับอัตรากำไรเพิ่มขึ้น เพราะ Reclaimed Water มีส่วนต่างกำไรที่ดีกว่าการจำหน่ายน้ำปกติ นอกจากนั้นยังตอบโจทย์ลดความเสี่ยงจากผลกระทบปัญหาภัยธรรมชาติที่มีความไม่แน่นอนได้ด้วย
"การผลิตน้ำ Reclaimed Water มีต้นทุนต่ำกว่าที่บริษัทต้องรับซื้อน้ำจากเอกชนรายอื่น และขายให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าที่ต้องการคุณภาพน้ำสูง เป็นสาเหตุที่ทำให้มาร์จิ้นของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามยอดขายน้ำประเภทดังกล่าว"
*ลุ้นฟื้นตัวครึ่งปีหลังชูเทคโนโลยีใหม่ต่อยอดธุรกิจไฟฟ้า
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในครึ่งปีหลังมีโอกาสพลิกกลับมาเติบโตได้ชัดเจนอีกครั้ง ตามความต้องการใช้น้ำกลุ่มเอกชนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลื่อนแผนการใช้น้ำในครึ่งปีแรกมาในครึ่งปีหลังแทน ขณะเดียวกันยังได้รับปัจจัยบวกเสริมเข้ามาจากน้ำ Reclaimed Water ที่จะเริ่มรับรู้รายได้จากการขายน้ำเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าในครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด และครึ่งปีหลังยังจะสามารถเติบโตได้ตามแผน โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือ 559 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มรับรู้รายได้ภายในปีนี้
ส่วนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม "ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่" (CCE) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 กำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 8.63 เมกะวัตต์ เพิ่งเริ่ม COD ไปเมื่อปลายปี 62 ทำให้ปี 63 จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า CCE เต็มที่ตลอดทั้งปี
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า บริษัทยังมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานไฟฟ้าช่วยต่อยอดด้านต่างๆเพิ่มขึ้น และที่ผ่านมาบริษัทลงนามในบันทึกข้อตกลงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer to Peer Energy Trading , การศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering และ Net Billing
รวมถึงการศึกษาเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงาน เช่น Energy Storage System, การศึกษาการจัดการและการปฏิบัติการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ อาทิ ระบบไมโครกริด ระบบสมาร์ทกริด ตลอดจนการศึกษารูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง เป็นต้น ล่าสุดผลการศึกษาพัฒนาขึ้นเป็นลำดับทำให้คาดว่าภายในไตรมาส 4/63 น่าจะมีความชัดเจนเรื่องรายละเอียดจากทางหน่วยงานภาครัฐ
"ผลจากการลงนามครั้งนี้เป็นโครงการช่วยต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนเพราะธุรกิจโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Roof) ที่บริษัทติดตั้งบนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ หากโครงการนี้อนุมัติบริษัทสามารถขายไฟฟ้าข้ามนิติบุคคลในนิคมฯได้ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทระยะยาว เพราะปัจจุบันมีหลังคาของโรงงานที่ทำ Solar Roof ได้อีกกว่า 200 เมกะวัตต์ หากมีความต้องการมากบริษัทก็มีแนวทางลงทุนโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) จำหน่ายไฟฟ้าภายในนิคมฯผ่านระบบสมาร์ทไมโครกริด เป็นโครงการในอนาคตที่ช่วยต่อยอดต่อไปในธุรกิจไฟฟ้า"นายนิพนธ์ กล่าว
*โจทย์ท้าทาย..กลยุทธ์โตนอกกลุ่ม WHA
นายนิพนธ์ เปิดเผยอีกว่า โมเดลธุรกิจของ WHAUP แม้ว่ามีข้อดีคือบริษัทสามารถเติบโตแบบ Organic เป็นลักษณะเติบโตภายในกลุ่มควบคู่ไปกับบริษัทแม่ คือ WHA ที่เป็นผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศและกำลังขยายการเติบโตในประเทศเวียดนาม
แต่โจทย์ใหม่ที่ท้าทายของบริษัทคือการเติบโตนอกกลุ่มเป็นลักษณะ Inorganic ซึ่งปัจุบันมีหลายโครงการที่บริษัทอยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อขยายการลงทุน ทั้งกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจน้ำ ยกตัวอย่างโครงการที่เริ่มไปแล้วคือการลงนามกับกลุ่ม ปตท.ในโครงการบำบัดน้ำเสียในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สัมปทาน 30 ปี กำลังการผลิต 300,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ปี คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีนี้
และในอนาคตบริษัทยังมีแผนนำโครงการ Reclaimed Water ขยายการเติบโตในนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆและหาโอกาสใหม่ๆในประเทศเวียดนามนอกเหนือจากการดำเนินงานควบคู่ไปกับกลุ่ม WHA เพิ่มเติมด้วย ขณะเดียวกันอยู่ในขั้นตอนศึกษาพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อรองรับความต้องการเพิ่มขึ้นในเขต EEC ในอนาคต
"สิ่งที่ WHAUP ต้องการออกมาเติบโตนอกกลุ่มฯ อันดับแรกคือเป็นความท้าทาย อันดับต่อมาคือเมื่อ WHAUP เติบโตแล้วบริษัทแม่ก็จะได้รับผลบวกจากกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วย"
*เป้า 3 ปีทุ่มหมื่นล้านขยายอาณาจักร ลุ้น M&A โรงไฟฟ้าเวียดนาม
นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีแผนการใช้งบลงทุนภายใน 3 ปีข้างหน้าประมาณ 1 หมื่นล้านบาทมีเป้าหมายเพิ่ม High Value Products เพื่อรักษาเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มธุรกิจน้ำมุ่งเป้าลดสัดส่วนการพึ่งพิงกับหน่วยงานภายนอกที่เป็นคู่ค้า เช่น เดินหน้าโครงการ Reclaimed Water และมุ่งขยายบ่อจัดเก็บน้ำของบริษัทเอง ส่วนธุรกิจไฟฟ้านอกจากโครงการ Solar Roof ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็ยังมีแผนรุกขยายโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเพิ่มเติมด้วย
สำหรับแผนงานในต่างประเทศ ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนหลายโครงการ แต่ที่อยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้มากที่สุดคือโครงการโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม กำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ ใบอนุญาตสัญญาระยะยาว 25 ปี โดยมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นตั้งเป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ต้องไม่น้อยกว่า 10% เพื่อคุ้มค่าต่อการลงทุนระยะยาว
ขณะที่โครงการอื่นๆมุ่งเน้นโครงการพลังงานทดแทนพลังงานแสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ เช่น Solar Roof ,Solar Farm ,Solar Floating ,Solar Car Park เพราะบริษัทมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์
ส่วนธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำประปาปัจจุบันมี 2 โครงการในเวียดนาม โดยโครงการแรกอยู่ในจังหวัดเหงะอานขนาดกำลังการผลิต 13,000 ลบ.ม./วัน ล่าสุดอยู่ระหว่างเพิ่มกำลังการผลิตอีก 10,000 ลบ.ม./วัน ขั้นตอนการก่อร้างคาดจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ส่งผลให้โครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตน้ำเพิ่มเป็น 23,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งแนวโน้มการเติบโตเป็นไปตามความต้องการใช้น้ำของประชาชนในจังหวัดเหงะอานและการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังย้ายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม WHA ที่อยู่ในจังหวัดเหงะอานอีกด้วย
และอีกโครงการคือโรงน้ำประปา Duong River Surface Water Plant (SDWTP) ในเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 300,000 ลบ.ม./วัน แม้ว่าระยะสั้นอาจติดปัญหายังไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้เพราะทางการสั่งชะลอเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ แต่หากสถานการณ์คลี่คลายแล้วบริษัทก็พร้อมเดินหน้าขยายกำลังการผลิตตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
https://youtu.be/zQiLqU1hQaw
July 31, 2020 at 09:33AM
https://ift.tt/2DlVc5z
WHAUP ยกเครื่องธุรกิจน้ำแก้ปมภัยแล้ง ชูแผน 3 ปีทุ่มหมื่นล้านกับกลยุทธ์โตนอกเครือ - อาร์วายที9
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "WHAUP ยกเครื่องธุรกิจน้ำแก้ปมภัยแล้ง ชูแผน 3 ปีทุ่มหมื่นล้านกับกลยุทธ์โตนอกเครือ - อาร์วายที9"
Post a Comment