ลำพังไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจประกันปีนี้ก็ยากลำบากอยู่แล้วทั้งผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และกำลังซื้อที่ชะลอตามเศรษฐกิจ ยิ่งเมื่อเจอวิกฤตโควิดเข้าไปด้วยก็ยิ่งกระทบหนัก ล่าสุด 2 นายกจาก “สมาคมประกันชีวิตไทย-สมาคมประกันวินาศภัยไทย” ได้มาสะท้อนภาพธุรกิจปีนี้ การพยายามปรับตัวของผู้ประกอบการ ตลอดจนมองข้ามชอตไปถึงปีหน้า
4 เดือนประกันชีวิต -1.24%
เริ่มจาก “นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากโควิดกดดันให้ช่วง 4 เดือนแรก อุตสาหกรรมประกันชีวิตติดลบไป 1.24% โดยสมาคมได้ปรับลดเป้าหมายเบี้ยรับรวมใหม่ คาดว่าสิ้นปี 2563 จะติดลบในระดับ 3-5% จากที่เมื่อต้นปีคาดการณ์ว่าจะติดลบ 0-2%
“ความกดดันมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่ได้จากการลงทุนลดลงมาก ทั้งจากตราสารหนี้ หุ้นกู้ เกิดการด้อยค่าลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย กลายเป็น high risk low yield (ความเสี่ยงสูงผลตอบแทนต่ำ) ทำให้ประกันออมทรัพย์ที่เคยเป็นพระเอกขายยากขึ้นหลายบริษัทต้องปรับตัวไปขายสินค้าความคุ้มครองและสุขภาพที่มีขนาดเบี้ยที่เล็ก”
“โควิด” ทุบกำลังซื้อวูบหนัก
นอกจากนี้ ในแง่รายได้และความสามารถในการซื้อประกันของประชาชน ก็อาจจะชะลอตัวไปอีกในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้ แม้เดือน เม.ย.จะเริ่มเห็นสัญญาณเบี้ยรับรายใหม่กลับมาเติบโตดีขึ้น ขณะที่เบี้ยชำระครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมี่ยม) ยังคงติดลบ
ดิ้นปรับตัวลดต้นทุน
นายกสมาคมประกันชีวิตไทยคาดหวังว่าปี 2564 เบี้ยจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยหลังพ้นโควิด ประชาชนน่าจะให้ความสนใจกับการทำประกันสุขภาพมากขึ้น และคาดว่าผู้บริโภคจะปรับไปใช้ช่องทางดิจิทัลกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัทได้มาก
ประกันวินาศภัยปีนี้พลิก -5%
ฟาก “อานนท์ วังวสุ” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบโควิด-19 จะกดดันอัตราเติบโตของตลาดประกันวินาศภัยปีนี้ติดลบ 5% หรือเบี้ยหายไปจากระบบราว 1.2 หมื่นล้านบาทของเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 2.4 แสนล้านบาท แม้ว่าช่วง 4 เดือนแรกเบี้ยรวมจะยังเติบโตเป็นบวก 5.4% แต่หากไม่รวมเบี้ยโควิดที่เข้ามา 4 พันล้านบาทแล้ว จะโตแค่ 2.5% ส่วนประกันรถยนต์เบี้ยติดลบถึง 1.2% โดยผลกระทบหลักมาจากตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัว อย่างในเดือน เม.ย.ยอดขายหดตัวกว่า 60%
ประกันโควิดช่วยพยุงธุรกิจ
“สินค้าที่โตแรงคือประกันสุขภาพ โดยเบี้ยประกันโควิดช่วยอุตสาหกรรมให้โตได้ระดับหนึ่ง แต่หลังจากนี้การระบาดน้อยลง ยอดขายคงลดลงไป”
นอกจากเศรษฐกิจที่ชะลอ ยังมีการยกเลิกความคุ้มครองความเสี่ยง ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในหลายกลุ่มธุรกิจ ที่ทำให้เบี้ยหายไปกว่า 50% โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ที่ทุนประกันสูง ที่ขอยกเลิกหรือทำประกันคุ้มครองเฉพาะภัยธรรมชาติและอัคคีภัย เนื่องจากต้องหยุดดำเนินการจากการไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ ไม่มีการขยายการลงทุนใหม่ และผลกระทบจากการด้อยค่าจากการลงทุนทั้งพันธบัตรและตลาดหุ้น
“ตัวเลขที่คาดการณ์แม้ดูจะเลวร้าย แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้เดือดร้อนมากนักเพราะการเคลมประกันก็หายไปด้วย โดยเฉพาะรถยนต์ในต่างจังหวัดยอดเคลมลดลงตั้งแต่ปลาย มี.ค. และลดลงแรงสุดในเดือน เม.ย.ไม่มีเคลมกว่า20 วัน หรือลดลงเกือบ 10% จากยอดเคลมรถยนต์ (loss ratio) ทั้งระบบเฉลี่ยที่ 60% และยังมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงที่เหลือของปีจากการใช้รถที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้น่าจะถัวเฉลี่ยกับเบี้ยที่หายไปได้ เพราะแม้รายได้ลดลงแต่รายจ่ายก็ลดตามไปด้วย” นายอานนท์กล่าว
เทรนด์ประกัน New Normal
ทั้งนี้ ปีนี้ยังดีที่พอมีเบี้ยใหม่จากยอดขายประกันโควิดเข้ามา ส่วนปีหน้าประเมินเบื้องต้นตลาดประกันวินาศภัยคงจะกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ตามภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวและจากฐานต่ำ
“คาดว่าเทรนด์ตลาดประกันสุขภาพกลุ่มไมโครอินชัวรันซ์จะเป็น new normal ของธุรกิจในอนาคตที่จะเฉพาะเจาะจงโรคมากขึ้นทำให้เบี้ยถูกซื้อง่ายผ่านออนไลน์ได้ รวมไปถึงกลุ่มเปิด-ปิด หรือคุ้มครองระยะสั้น ก็คงได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย”
ปีนี้คงเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับทุกธุรกิจ สิ่งที่ทำได้ก็คือ พยายามประคองตัว ปรับตัวกันไป และหวังว่าปีหน้าอะไร ๆ คงจะดีขึ้น
June 18, 2020 at 03:25PM
https://ift.tt/3fE6ksn
2 นายกประกัน สแกนธุรกิจปี 63 "วิกฤตโควิด-ภาวะ ดอกเบี้ยต่ำ" - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/3dXvwcw
Bagikan Berita Ini
0 Response to "2 นายกประกัน สแกนธุรกิจปี 63 "วิกฤตโควิด-ภาวะ ดอกเบี้ยต่ำ" - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment